ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสให้เกิดข้อเท้าแพลง

ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสให้เกิดข้อเท้าแพลง

   ข้อเท้าแพลง (Ankle Sprain ) สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นการเดิน หรือวิ่งบนพื้นผิวขรุขระ การก้าวบันไดผิดขั้น การใส่รองเท้าส้นสูง การเล่นกีฬาออกกำลังกาย ปัญหาเรื่องการทรงตัวของผู้สูงอายุ และการมีน้ำหนักตัวมากเกินไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น เดินข้อเท้าพลิก ข้อเท้าบิด หรือสะดุด หกล้ม เป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง สามารถให้การดูแลรักษาด้วยตนเอง ซึ่งมักจะหายได้เองภายใน 3-4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ถ้าดูแล 2-3 วันแล้วไม่ทุเลา หรือมีอาการปวดรุนแรง หรือสงสัยเกิดจากสาเหตุอื่น ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที

 

สาเหตุของข้อเท้าแพลง
ข้อเท้าแพลงเกิดจากข้อเท้าพลิก หรือเกิดเหตุที่ทำให้ข้อเท้าอยู่ในท่าผิดไปจากปกติ จนเส้นเอ็นยึดข้อเท้ากับกระดูกขา เกิดการยึดตึง หรือฉีกขาด

 

ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสให้เกิดข้อเท้าแพลง ได้แก่
- ก้าวพลาด หรือหกล้ม
- ทิ้งตัวลงมาผิดจังหวะ จากการกระโดด หรือหมุนตัว
- การวิ่ง หรือการก้าวเดินบนพื้นผิวที่ขรุขระ
- การสวมใส่ถุงเท้า หรือรองเท้าที่ไม่พอดีกับเท้า
- การออกกำลังกาย หรือการเล่นกีฬา ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุกระทบกระเทือนจนข้อเท้าแพลงได้ เช่น การเล่นเทนนิส บาสเก็ตบอล ฟุตบอล
- การมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน หรือมากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุจนข้อเท้าแพลงได้ง่ายยิ่งขึ้น
- เคยประสบอุบัติเหตุ หรือมีอาการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้ามาก่อนอาการของข้อเท้าแพลง

 

อาการของข้อเท้าแพลง
- เจ็บปวดบริเวณข้อเท้าที่แพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลงน้ำหนักที่เท้า หรือได้รับแรงกด
- ข้อเท้าบวม
- บริเวณข้อเท้าที่แพลงมีรอยช้ำเลือด หรือผิวหนังบริเวณนั้นมีสีที่เปลี่ยนไป
- ข้อเท้าบริเวณที่แพลง เกิดอาการยึดตึง และไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
- ในบางครั้ง ผู้ป่วยอาจได้ยินเสียงเส้นเอ็นพลิก ในขณะที่เกิดข้อเท้าแพลง

 

อาการปวดข้อ ข้อบวม ที่เกิดขึ้นฉับพลัน อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่สำคัญที่นอกจากโรคข้อเท้าแพลงได้อีก เช่น

1. ข้อกระดูกแตกร้าว

    มักเกิดหลังได้รับบาดเจ็บ และมีอาการคล้ายข้อแพลง แต่มักมีอาการรุนแรง และหายช้ากว่าข้อแพลง ในกรณีที่คิดว่าเป็นข้อแพลง ถ้าให้การดูแล 2-3 วันแล้วไม่ทุเลา ก็อาจเกิดจากข้อกระดูกแตกร้าว

2. โรคเกาต์

    ผู้ป่วยจะมีอาการข้ออักเสบ (ข้อปวด บวม แดง ร้อน) ฉับพลัน ส่วนใหญ่เป็นที่ข้อหัวแม่เท้าเพียง หนึ่งข้อ บางรายอาจเป็นที่ข้อเท้า หรือข้ออื่นๆ มักกำเริบหลังกินเลี้ยง ดื่มเหล้า หรือกินเครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ หรือพืชหน่ออ่อนปริมาณมาก บางครั้งการบาดเจ็บที่ข้อ (เช่น เดินสะดุด หกล้ม) ก็อาจทำให้โรคเกาต์กำเริบได้ ซึ่งอาจทำให้คิดว่าเป็นเพียงข้อแพลง ผู้ป่วยโรคเกาต์บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย

3. โรคไข้รูมาติก

    มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จะมีอาการข้ออักเสบรุนแรง เกิดขึ้นฉับพลันที่ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ หรือข้อศอกเพียงข้อเดียว โดยไม่มีประวัติได้รับบาดเจ็บที่ข้อ บางรายอาจมีประวัติเป็นไข้ เจ็บคอ หรือทอนซิลอักเสบมาก่อนปวดข้อ 1-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยมักมีไข้ร่วมด้วย

4. ก้อนฝีที่ข้อ

    ระยะแรกที่เริ่มมีอาการบวมแดงร้อน และปวด อาจทำให้คิดว่าเป็นข้อเท้าแพลง ต่อมาฝีจะบวมเป่งเป็นก้อนชัดเจนขึ้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย

 

การวินิจฉัยข้อเท้าแพลง
   แพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติได้รับบาดเจ็บกี่ข้อ เช่น ข้อเท้าพลิก เดินสะดุด หกล้ม แล้วเกิดอาการข้อบวม และปวด เคลื่อนไหวข้อลำบาก เช่น ข้อเท้าพลิก ทำให้เดินไม่ถนัด หรือเดินกะเผลก ในรายที่สงสัยข้อกระดูกแตกร้าว หรือหักแพทย์จะทำการเอกซเรย์ ในรายที่สงสัยเป็นข้ออักเสบจากสาเหตุอื่น อาจต้องทำการตรวจเลือด หรือตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม

 

การรักษาข้อเท้าแพลง
- ควรพักการเดิน และการใช้งานเท้าข้างที่บาดเจ็บ
- ประคบเย็นบริเวณที่บาดเจ็บ
- ยกขาสูง เพื่อลดอาการบวมของเท้า
- แพทย์อาจจะพิจารณาการรักษาโดยวิธีการใส่เฝือก กรณีที่มีอาการบาดเจ็บรุนแรง ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
- การให้รับประทานยาเพื่อลดการอักเสบของข้อเท้า

นอกจากนี้ ควรนัดตรวจติดตามอาการหลังทำการรักษาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ถ้าหากอาการบาดเจ็บยังไม่ดีขึ้น อาจจะพิจารณาการรักษาเพิ่มเติม โดยวิธีการทำกายภาพ และหากภายใน 6 สัปดาห์ อาการบาดเจ็บยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะทำ MRI เพื่อวินิจฉัยภาวะโรคอื่นที่เกิดร่วมกัน เช่น กระดูกอ่อนผิวข้อบาดเจ็บ หรือเส้นเอ็นเหนือข้อเท้าฉีกขาด

ขอขอบคุณข้อมูล : นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ

สอบถามข้อมูลการฟื้นฟู
และนัดดูสถานที่

 

ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูคิน

สาขา รพ.ประสานมิตร ถนนพหลโยธิน (รับเฉพาะผู้ป่วยนอก)
 โทร : 02-096-4996 กด 3 / 080-553-1991 / 081-632-8188
 LINE สอบถามรายละเอียด @KinPrasanmit (มี @ ข้างหน้า)
หรือ Click : https://lin.ee/UPfzPk7

KIN Origin Healthcare
สาขา Sukhumvit 107
 
สาขา Ramintra

ข่าวสารบทความ อื่นๆ

KIN Rehab