ผู้สูงอายุวิ่งอย่างไรให้ปลอดภัย

ผู้สูงอายุวิ่งอย่างไรให้ปลอดภัย

    การออกกำลังกายไม่ใช่เรื่องของคนหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุอีกด้วย แต่ด้วยสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลงตามอายุ อาจทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ประสบกับปัญหาการคงการออกกำลังกายให้ต่อเนื่องและเหมาะสมกับสภาพร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ความเสื่อมถอยของร่างกายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญที่ควรต้องรักษาไว้ คือความเชื่อที่ว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญ และไม่ว่าใครก็ออกกำลังกายได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับอายุ

    การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ง่าย เพียงแค่เรามีรองเท้าเพี่ยงหนึ่งคู่และมีร่างกายที่แข็งแรง ก็สามารถวิ่งได้แล้ว แต่นักวิ่งจำนวนมากเมื่ออายุมากขึ้นอาจจะคิดว่าการวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่หนักเกินไปสำหรับวัยของตนเอง ทำให้ลดการวิ่งลง หรือเปลี่ยนไปออกกำลังกายอย่างอื่นแทน ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่เคยวิ่งมาก่อนก็ไม่กล้าที่ออกมาวิ่ง  หากต้องมาเริ่มวิ่งเอาก็ตอนที่ร่างกายไม่ได้สมบูรณ์เหมือนตอนหนุ่มสาว

    ที่จริงแล้ว มีตัวอย่างมากมายของนักวิ่งที่แม้จะสูงอายุแล้ว แต่ก็ยังคงวิ่งอย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งนักวิ่งที่มาเริ่มวิ่งเอาตอนย่างเข้าสู่วัยชราก็มีให้เห็นไม่น้อย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัยไม่ใช่อุปสรรคต่อการวิ่งเสียทีเดียว หากมีการดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างดีและมีการจัดโปรแกรมการวิ่งที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของตนเอง

    สำหรับใครที่มีผู้สูงอายุอยู่ที่บ้าน อาจจะคุณพ่อคุณแม่ คุณตาคุณยาย คุณปู่คุณย่า ที่อยากใช้เวลาว่างในการวิ่งออกกำลัง แต่ไม่รู้ต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะปลอดภัยกับสภาพร่างกายของตนเองไม่ต้องกังวลไป เพราะวันนี้เราได้รวบรวมวิธีการวิ่งออกกำลังกายอย่างปลอดภัย สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะมาให้แล้ว

  1. สำหรับผู้ที่เริ่มวิ่ง ให้เริ่มต้นวิ่งช้า ๆก่อน

เนื่องจากผู้สูงอายุร่างกายจะไม่แข็งแรงเท่ากับวัยรุ่น ดังนั้นถ้าเริ่มต้นด้วยการวิ่งแบบเต็มกำลังอาจจะเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เป็นต้นว่าอาจจะหกล้ม หัวใจล้มเหลว ฯลฯ วิธีที่ดีที่สุดคือให้เริ่มด้วยการวิ่งช้า ๆ ก่อน ค่อยๆฝึก แล้วค่อยๆเพิ่มความเร็วทีหลังก็ได้

  1. ควรมีคนวิ่งไปด้วย หรือตามไปดูแล

อย่างกรณีที่ผู้สูงอายุอยากจะวิ่งออกกำลังกาย แต่เป็นการวิ่งครั้งแรกในรอบหลายปี ในกรณีอย่างนี้ควรมีคนตามไปดูแล หรือวิ่งไปด้วย โดยอาจจะมีบุตรหลานหรือผู้ดูแลไปกับท่านด้วย เผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น บาดเจ็บ จะได้ช่วยเหลือทันและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรือแม้แต่ชีวิตท่านด้วย

  1. เน้นเรื่องการวอร์มร่างกาย

เนื่องจากกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุจะไม่ค่อยมีความยืดหยุ่นหรือแข็งแรงเท่ากับคนวัยรุ่นแล้ว จึงต้องมีการวอร์มร่างกายก่อนการวิ่งหรือออกกำลังกายก่อนทุกครั้ง เพื่อสร้างความเคยชินให้กับร่างกาย และลดอาการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหวเร็ว ๆโดยเฉียบพลันอีกด้วย

  1. ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการออกกำลังกาย

ข้อนี้สำคัญสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ได้วิ่งมานานและเพิ่งกลับมาเริ่มวิ่งใหม่ โดยควรที่จะไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายก่อน ว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแรงพอที่จะวิ่งได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังอาจได้คำแนะนำอะไรดี ๆ จากแพทย์กลับมาอีกด้วย

  1. เคลื่อนไหวร่างกายให้ถูกต้อง ปฏิบัติตามวิธีอย่างเคร่งครัด

การเคลื่อนไหวร่างกายที่ถูกต้องขณะวิ่งคือ หลังต้องตรง ท่าทางต้องดูสง่า อกผาย ไหล่ผึ่ง อย่าลงเท้าแรง และไม่ก้าวเท้ายาวเกินหัวเข่า ซึ่งถ้าเป็นคนวัยรุ่นแล้ว พลาดไปนิดหน่อยอาจจะไม่บาดเจ็บรุนแรง เพราะร่างกายปรับตัวได้เร็ว แต่ถ้าเป็นผู้สูงอายุ เคลื่อนไหวพลาดเพียงแค่เล็กน้อยก็อาจทำให้บาดเจ็บหนักได้

  1. หากไม่จำเป็นไม่ต้องออกกำลังกายทุกวัน ให้แบ่งเวลาพักมาก ๆ

เพราะการออกไปวิ่งหรือการออกกำลังกายทุกวันอาจเป็นการหักโหมร่างกายมากเกินไปสำหรับผู้สูงอายุ ทางที่ดี เมื่อวิ่งไปแล้วหนึ่งวันควรพักผ่อนสักวันหรือสองวัน จากนั้นค่อยเริ่มวิ่งในวันถัดไป ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เพราะหากออกไปวิ่งหรือออกกำลังกายทุกวันแล้วอาจจะทำให้ผู้สูงอายุบาดเจ็บหรือล้มป่วยได้

สนใจสอบถามข้อมูล
KIN (คิน) - Rehabilitation & Homecare
โทร. 0802400426 / 091 803-3071 / 0-2020-1171
สอบถามบริการของ KIN  แอด LINE@ สอบถามรายละเอียด @kin.rehab มี @ ข้างหน้า หรือ Click : http://bit.ly/2M5f3Id
แผนที่ไป KIN (คิน) http://bit.ly/2VvPDq6
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.kinrehab.com/
FaceBook(Inbox) : https://www.facebook.com/KIN.Rehabilitation

ข่าวสารบทความ อื่นๆ

KIN Rehab